วันพุธที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2553

การปกครองสมัยกรุงรัตนโกสินทร์






การปกครองของไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

การปกครองสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
สภาพทางการเมืองในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ยังคงรูปแบบของระบบประชาธิปไตยอันเป็นระบบการปกครองที่สืบทอดมาช้านาน การเปลี่ยนแปลงภายในตัวระบบอยู่ที่การปรับบทบาทของสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นสถาบันสูงสุดที่ทำหน้าที่ปกครองประเทศ รูปแบบของสถาบ้นกษัตริย์สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น คลายความเป็นเทวราชาลงเป็นอย่างมาก ขณะเดียวกันก็กลับเน้นคติและรูปแบบของธรรมราชาขึ้นแทนที่ อย่างไรก็ตาม อำนาจอันล้นพ้นของพระมหากษัตริย์ก็มีอยู่แต่ในทางทฤษฎี เพราะในทางปฏิบัติ พระราชอำนาจของพระองค์กลับถูกจำกัดลงด้วยคติธรรมในการปกครอง ซึ่งอิงหลักธรรมของพุทธศาสนา คือ ทศพิธราชธรรม กับอีกประการหนึ่ง คือ การถูกแบ่งพระราชอำนาจตามการจัดระเบียบควบคุมในระบบไพร่ ซึ่งถือกันว่า พระมหากษัตริย์คือมูลนายสูงสุดที่อยู่เหนือมูลนายทั้งปวง แต่ในทางปฏิบัติพระองค์ก็มิอาจจะควบคุมดูแลไพร่พลเป็นจำนวนมากได้ทั่วถึง จึงต้องแบ่งพระราชอำนาจในการบังคับบัญชากำลังคนให้กับมูลนายในระดับรองๆ ลงมา ในลักษณะเช่นนั้น มูลนายที่ได้รับมอบหมายให้กำกับไพร่และบริหารราชการแผ่นดินต่างพระเนตรพระกรรณ จึงเป็นกลุ่มอำนาจมีอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งกลุ่มใดจะมีอำนาจเหนือกลุ่มใดก็แล้วแต่สภาพแวดล้อมของสังคมในขณะนั้นเป็นสำคัญ
การปกครองและการบริหารประเทศในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น กล่าวได้ว่า รูปแบบของการปกครอง ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ยังคงยึดตามแบบฉบับที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงวางระเบียบไว้ จะมีการเปลี่ยนแปลงก็เพียงเล็กน้อย เช่น ในสมัยรัชกาลที่ ๑ โปรดฯ ให้คืนเขตการปกครองในหัวเมืองภาคใต้กลับให้สมุหกลาโหมตามเดิม ส่วนสมุหนายกให้ปกครองหัวเมืองทางเหนือ ส่วนพระคลังดูแลหัวเมืองชายทะเล ในด้านระบบการบริหาร ก็ยังคงมีอัครมหาเสนาบดี ๒ ฝ่าย คือ สมุหนายกเป็นหัวหน้าฝ่ายพลเรือน ดูแลบังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายเหนือ และสมุหกลาโหม เป็นหัวหน้าราชการฝ่ายทหาร ดูแลบังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายใต้ ตำแหน่งรองลงมาคือ เสนาบดีจตุสดมภ์ แบ่งตามชื่อกรมที่มีอยู่คือ เวียง วัง คลังและ นา ในบรรดาเสนาทั้ง ๔ กรมนี้ เสนาบดีกรมคลังจะมีบทบาทและภาระหน้าที่มากที่สุด คือนอกจากจะบริหารการคลังของประเทศแล้ว ยังมีหน้าที่ดูแลบังคับบัญชาหัวเมืองชายทะเลตะวันออก เสนาบดีทั้งหลายมีอำนาจสั่งการภายในเขตความรับผิดชอบของตน รูปแบบที่ถือปฏิบัติก็คือ ส่งคำสั่งและรับรายงานจากเมืองในสังกัดของตน ถ้ามีเรื่องร้ายที่เกิดขึ้น เสนาบดีเจ้าสังกัดจะเป็นแม่ทัพออกไปจัดการเรื่องต่างๆ ให้เรียบร้อย มีศาลของตัวเองและสิทธิในการเก็บภาษีอากรในดินแดนสังกัดของตน รวมทั้งดูแลการลักเลขทะเบียนกำลังคนในสังกัดด้วย
การบริหารในระดับต่ำลงมา อาศัยรูปแบบการปกครองคนในระบบไพร่ คือ แบ่งฝ่ายงานออกเป็นกรมกองต่างๆ แต่ละกรมกอง มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการควบคุมกำลังคนในสังกัดของตน โครงสร้างของแต่ละกรม ประกอบด้วยขุนนางข้าราชการอย่างน้อย ๓ ตำแหน่ง คือ เจ้ากรม ปลัดกรม และสมุห์บัญชี กรมมีทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก กรมใหญ่มักเป็นกรมสำคัญ เจ้ากรมมีบรรดาศักดิ์ถึงขนาดเจ้าพระยาหรือพระยา
กรมของเจ้านายที่มีความสำคัญมากที่สุด ได้แก่ กรมของพระมหาอุปราช ซึ่งเรียกกันว่า กรมพระราชวังบวรสถานมงคล กรมของพระองค์มีไพร่พลขึ้นสังกัดมาก กรมของเจ้านายมิได้ทำหน้าที่บริหารราชการโดยตรง ถือเป็นกรมที่ควบคุมกำลังคนเป็นสำคัญ เพราะฉะนั้น การแต่งตั้งเจ้านายขึ้นทรงกรมจึงเป็นการให้ทั้งความสำคัญ เกียรติยศ และความมั่นคงเพราะไพร่พลในครอบครองเป็นเครื่องหมายแสดงถึงอำนาจและความมั่งคั่งของมูลนายผู้เป็นเจ้าของการบริหารราชการส่วนกลาง มีพระมหากษัตริย์เป็นมูลนายระดับสูงสุด เจ้านายกับขุนนางข้าราชการผู้บังคับบัญชากรมต่างๆ ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน ฐานะเป็นมูลนายในระดับสูง ช่วยบริหารราชการ โดยมีนายหมวด นายกอง เป็นมูลนายระดับล่างอยู่ใต้บังคับบัญชา และทำหน้าที่ควบคุมไพร่อีกต่อหนึ่ง การสั่งราชการจะผ่านลำดับชั้นของมูลนายลงมาจนถึงไพร่
สำหรับการปกครองในส่วนภูมิภาคหรือการปกครองหัวเมือง ขึ้นอยู่กับอัครมหาเสนาบดี ๒ ท่าน และเสนาบดีคลัง ดังได้กล่าวไว้ข้างต้น หัวเมืองแบ่งออกเป็นสองชั้นใหญ่ๆ ได้แก่ หัวเมืองชั้นในและหัวเมืองชั้นอก การแบ่งหัวเมืองยังมีอีกวิธีหนึ่ง โดยแบ่งออกเป็น ๔ ขั้น คือ เอก โท ตรี จัตวา ตามความสำคัญทางยุทธศาสตร์และราษฎร
หัวเมืองชั้นใน เป็นหน่วยปกครองที่อยู่ใกล้เมืองหลวง มีเจ้าเมืองหรือผู้รั้ง ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าปกครองดูแล
หัวเมืองชั้นนอก มีทั้งหัวเมืองใหญ่ หัวเมืองรอง และหัวเมืองชายแดน หัวเมืองเหล่านี้ อยู่ใต้การปกครองของเจ้าเมือง และข้าราชการในเมืองนั้นๆ
นโยบายที่ใช้ในการปกครองหัวเมืองในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อความกระชับยิ่งขึ้น กล่าวคือ รัชกาลที่ ๑ ได้ทรงออกพระราชกำหนดตัดทอนอำนาจเจ้าเมืองในการแต่งตั้งข้าราชการที่สำคัญๆ ทุกตำแหน่ง โดยโอนอำนาจการแต่งตั้งจากกรมเมืองในเมืองหลวง นับเป็นการขยายอำนาจของส่วนกลาง โดยอาศัยการสร้างความจงรักภักดีให้เกิดขึ้นกับเจ้านายทั้งสองฝ่าย คือ ทั้งเจ้าเมือง และข้าราชการที่แต่งตั้งตนในส่วนกลาง ตำแหน่งต่างๆ เหล่านี้ต้องรายงานตัวต่อผู้ตั้งทุกปี ทั้งนี้เพื่อผลในการควบคุมไพร่พลและเกณฑ์ไพร่มาใช้ เพราะฉะนั้น มูลนายในเมืองหลวงจึงได้ควบคุมสัสดีต่างจังหวัดอย่างใกล้ชิด
ส่วนการปกครองในประเทศราช เช่น ลาว เขมร มลายู นั้น ไทยใช้วิธีปกครองโดยทางอ้อม ส่วนใหญ่จะปลูกฝังความนิยมไทยลงในความรู้สึกของเจ้านายเมืองขึ้น โดยการนำเจ้านายจากประเทศราชมาอบรมเลี้ยงดูในฐานะพระราชบุตรบุญธรรมของพระมหากษัตริย์ในราชสำนักไทยหรือสนับสนุนให้มีการแต่งงานกันระหว่างเจ้านายทั้งสองฝ่าย และภายหลังก็ส่งเจ้านายพระองค์นั้นไปปกครองเมืองประเทศราช ด้วยวิธีนี้ จึงทำให้เกิดความรู้สึกผูกพันกันขึ้นระหว่างกษัตริย์ไทยกับเจ้านายเมืองขึ้น การปกครอง หรือการขยายอำนาจอิทธิพลในอาณาจักรต่างๆ เหล่านี้ ฝ่ายไทยและประเทศราชไม่มีการทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ขึ้นกับอำนาจความมั่นคงของราชอาณาจักรไทย เพราะฉะนั้น ในช่วงใดที่ประเทศอ่อนแอ เมืองขึ้นก็อาจแข็งเมืองหรือหันไปหาแหล่งอำนาจใหม่ เพราะฉะนั้น เมื่ออำนาจตะวันออกแผ่อิทธิพลเข้ามาในดินแดนเอเซียอาคเนย์ ปัญหาเรื่องอิทธิพลในเขตแดนต่างๆ จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้อง

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงปฏิรูปการปกครองแผ่นดินอย่างขนานใหญ่ ควบคู่ไปกับการปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคม ทั้งนี้ก็เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป การปฏิรูปเศรษฐกิจ ก็ได้แก่ การปรับปรุงระบบบริหารงานคลังและภาษีอากร ส่วนการปฏิรูปสังคมก็ได้แก่ การเลิกทาส การปฏิรูปการศึกษา รวมทั้งการปรับปรุงการสื่อสาร และการคมนาคม เป็นต้น
สำหรับมูลเหตุสำคัญที่ผลักดันให้มีการปฏิรูปการปกครอง มีอยู่ ๒ ประการ คือ
๑.มูลเหตุภายใน ทรงพิจารณาเห็นว่าการปกครองแบบเดิมไม่เหมาะสมกับสภาพทางการปกครองและทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ประเทศไทยมีประชากรเพิ่มขึ้น การคมนมคมและการติดต่อสื่อสารเริ่มมีความทันสมัยมากขึ้น การปกครองแบบเดิมจะมีผลทำให้ประเทศชาติขาดเอกภาพในการปกครอง ขาดประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดินและพัฒนาได้ยาก
๒.มูลเหตุภายนอก ทรงพิจารณาเห็นว่า หากไม่ทรงปฏิรูปการปกครองแผ่นดินย่อมจะเป็นอันตรายต่อเอกราชของชาติ เพราะขณะนั้น จักวรรดินิยมตะวันตก ได้เข้ามาแสวงหาอาณานิคมในแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนั้น แต่เดิมเราต้องยินยอมให้ประเทศตะวันตกหลายประเทศมีสิทธิภาพนอกอาณาเขตคือ สามารถตั้งศาลกงสุลขึ้นมาพิจารณาความคนในบังคับของตนได้ โดยไม่ต้องอยู่ใต้การบังคับของศาลไทย เพราะอ้างว่า ศาลไทยล้าสมัย
การปกครองสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนปลาย
การปกครองส่วนกลาง
ทำการปฏิรูปโดยจัดตั้งหน่วยราชการใหม่ เรียกว่า กระทรวง ซึ่งมี ๑๒ กระทรวง ใน พ.ศ.๒๔๓๕ แต่ละกระทรวงมีเสนาบดีรับผิดชอบงานของกระทรวงนั้นๆ กระทรวงต่างๆ ในสมัยปฏิรูปการปกครองแผ่นดินมีดังนี้
๑.กระทรวงมหาดไทย
มีหน้าที่บังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายเหนือ และเมืองลาวประเทศราช
๒.กระทรวงกลาโหม
มีหน้าที่บังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายใต้ ฝ่ายตะวันออก และเมืองมลายูประเทศราช
๓.กระทรวงการต่างประเทศ
มีหน้าที่เกี่ยวกับการต่างประเทศ
๔.กระทรวงวัง
มีหน้าที่รับผิดชอบราชการในพระราชวัง และกรมที่เกี่ยวข้องกับราชการในองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
๕.กระทรวงนครบาล
มีหน้าที่เกี่ยวกับกิจการตำรวจ และราชทัณฑ์ ต่อมาให้รับผิดชอบราชการในเขตแขวงกรุงเทพฯ ราชธานี
๖.กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ
มีหน้าที่เกี่ยวกับการจัดการเก็บภาษีอากร และเงินที่เป็นรายรับและรายจ่ายในแผ่นดิน
๗.กระทรวงยุติธรรม
มีหน้าที่บังคับศาลที่ชำระความทั่วทั้งประเทศทั้งแพ่ง อาญา และอุทธรณ์
๘.กระทรวงยุทธนาธิการ
มีหน้าที่รับผิดชอบในกิจการทหารบก และทหารเรือ
๙.กระทรวงเกษตราธิการ
มีหน้าที่เกี่ยวกับการเพาะปลูก การป่าไม้ การทำเหมืองแร่ และการค้าขาย
๑๐.กระทรวงธรรมการ
มีหน้าที่เกี่ยวกับการศาสนา การศึกษา และการสาธารณสุข
๑๑.กระทรวงโยธาธิการ
มีหน้าที่เกี่ยวกับกิจการก่อสร้าง ทำถนน ขุดคลอง การช่างทั่วไป การไปรษณีย์โทรเลข และการรถไฟ ซึ่งวางแผนไว้ว่าจะมีขึ้นภายหลัง
๑๒.กระทรวงมุรธาธิการ
มีหน้าที่เกี่ยวกับการรักษาตราแผ่นดิน รักษาพระราชกำหนดกฎหมายและงานหนังสือราชการทั้งปวงยิ่งกว่านั้น ยังได้ทรงตั้งสภาที่ปรึกษาขึ้น ๒ สภา ก็คือ
๑.รัฐมนตรีสภา
๒.องคมนตรีสภา
การปกครองส่วนภูมิภาค การจัดระเบียบการปกครองส่วนภูมิภาคในสมัยปฏิรูปการปกรองแผ่นดิน มีดังนี้ ๑.มณฑลเทศาภิบาล เป็นหน่วยการปกครองส่วนภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุด ประกอบด้วยเมืองตั้งแต่สองเมืองขึ้นไป มีข้าหลวงเทศาภิบาล หรือสมุหเทศาภิบาล ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งเป็นผู้รับผิดชอบ โดยมีตัวแทนของกระทรวงอื่นๆ เป็นผู้ช่วยในการปฏิบัติราชการ ๒.เมือง หรือจังหวัดในปัจจุบัน มีผู้ว่าราชการเมืองเป็นผู้รับผิดชอบ ขึ้นกับข้าหลวงเทศาภิบาลโดยตรง โดยมีข้าราชการอื่นๆ เป็นผู้ช่วย๓.อำเภอ มีนายอำเภอซึ่งผู้ว่าราชการเมืองแต่งตั้งเป็นผู้รับผิดชอบ๔.ตำบล มีกำนันซึ่งได้รับเลือกตั้งมาจากผู้ใหญ่บ้าน และผู้ว่าราชการเมืองแต่งตั้ง เป็นผู้รับผิดชอบ๕.หมู่บ้าน มีผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งราษฎรเลือกตั้งมา เป็นผู้รับผิดชอบการปกครองแบบท้องถิ่น
ทรงเล็งเห็นคุณประโยชน์ของการส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองตนเอง จึงได้ทรงให้มีการปกครองท้องถิ่นโดยการจัดตั้งสุขาภิบาลท่าฉลอมขึ้นเป็นแห่งแรก เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๘ ในระยะต่อมา จึงได้มีการจัดตั้งสุขาภิบาลขึ้น ถึง ๓๕ แห่ง การปกครองท้องถิ่นในรูปสุขาภิบาลนี้ เป็นการร่วมมือกันระหว่างหัวหน้าหน่วยราชการตำแหน่งต่างๆ ในท้องที่ กับกรรมการอื่นๆ ที่ราษฎรเป็นผู้เลือกขึ้นมา หน้าที่สำคัญๆ ของสุขาภิบาลได้แก่ การรักษาความสะอาด การให้การศึกษาขั้นต้นแก่ราษฎร การอนามัย และการบำรุงรักษาถนนหนทาง
การปกครองระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของไทย ได้ดำรงอยู่จนถึง พ.ศ.๒๔๗๕ จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงมาสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตย กล่าวคือ ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ มีข้าราชการทหารและพลเรือนกลุ่มหนึ่ง ได้แก่การปฏิวัติขึ้น โดยทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ
สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงการปกครองดังกล่าว มีดังนี้
๑. เกิดจากอิทธิพลของการมีแนวความคิดในเรื่องการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่บ้านข้าราชการที่ได้รับการศึกษามาจากยุโรป
๒. ฐานะทางการคลังของรัฐบาลเกิดทรุดลง ทำให้ต้องตัดรายจ่ายในด้านต่างๆ ลง ซึ่งรวมถึงบัญชีเงินเดือนของข้าราชการฝ่ายต่างๆ ด้วยจึงเกิดความไม่พอใจขึ้นมา
๓. คณะผู้ก่อการหลายคน มีความรู้สึกว่า ตนไม่ได้รับการยอมรับในความสามารถจากเจ้านายบางพระองค์ คณะผู้ก่อการ ซึ่งเรียกว่าตัวเองว่า "คณะราษฎร" ได้จัดตั้งรัฐบาลขึ้น โดยมีพระยามโนปกรณ์ นิติธาดา เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก ได้ประกาศให้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕ เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ใช้รูปแบบการปกครองระบบรัฐสภา
๑.ลักษณะการปกครอง มีลักษณะสำคัญๆ ดังนี้คือ
๑.๑ อำนาจอธิปไตย เป็นของประชาชน
๑.๒ พระมหากษัตริย์ทรงมีฐานะเป็นประมุขของประเทศ
๑.๓ รัฐสภา เป็นสถาบันที่เป็นตัวแทนของประชาชน มีอำนาจหน้าที่ในการออกกฎหมาย
๑.๔ คณะรัฐมนตรี มีหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยรับผิดชอบต่อรัฐสภา คือจะต้องได้รับความไว้วางใจจากรัฐสภา มิฉะนั้น จะต้องลาออก หรือยุบสภา
๑.๕ ศาล มีหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาคดี
๑.๖ ประชาชน มีหลักประกันในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค
๒. นโยบายการปกครองโดยทั่วไป คณะราษฎรได้ประกาศนโยบายการปกครองประเทศ ๖ ประการ ดังต่อไปนี้คือ๒.๑ จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย
๒.๒ จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ
๒.๓ จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ
๒.๔ จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน
๒.๕ จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ
๒.๖ จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร
๓. การจัดระเบียบการปกครอง มีวิธีดำเนินการปกครอง ดังนี้
๓.๑ รัฐธรรมนูญกำหนดอำนาจหน้าที่และความสัมพันธ์ของสถาบันทางการปกครองที่สำคัญๆ ซึ่งได้แก่ รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล
๓.๒ จัดให้มีการเลือกตั้งโดยเสรี ตามระยะเวลาที่กำหนด
๓.๓ สมาชิกรัฐสภา ให้ความไว้วางใจบุคคลที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี หรือหัวหน้ารัฐบาล ทั้งนี้จะโดยการหยั่งเสียง หรือเลือกมาจากหัวหน้าพรรคการเมืองที่มีชื่อเสียงมาก
๓.๔ นายกรัฐมนตรี เป็นผู้เลือกบุคคลที่จะมาเป็นรัฐมนตรีร่วมรัฐบาล คณะรัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน ให้เป็นไปตามนโยบายที่แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎร และจะอยู่ในตำแหน่งตามระยะเวลาที่กำหนด แต่อาจยุบสภาหากมีความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่
๓.๕ คณะรัฐมนตรี จะรับผิดชอบร่วมกันต่อรัฐสภา
๓.๖ รัฐมนตรี แต่ละคน จะรับผิดชอบการบริหารงานในกระทรวงของตน
๓.๗ การตัดสินใจแก้ปัญหาต่างๆ จะถือเสียงข้างมากเป็นหลัก
๓.๘ พระมหากษัตริย์ ทรงมีฐานะเป็นประมุขของประเทศ และทรงอยู่เหนือการเมือง
๔. ผลของการปกครองระบอบประชาธิปไตย
๔.๑ มีรัฐธรรมนูญ ในการปกครองประเทศทำให้เกิดการปกครองโดยยึดหลักกฎหมาย
๔.๒ การปกครองระบอบประชาธิปไตย มีความเหมาะสมกับสภาวะทางเศรษฐกิจทางสังคมและทางการเมือง๔.๓ ประชาชนได้มีโอกาสเข้ามีส่วนร่วมในการปกครอง โดยใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งผู้แทนราษฎรของตน
๔.๔ ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคกันมากขึ้น
๔.๕ ทำให้เกิดสถาบันทางการปกครองใหม่ๆ
๔.๖ ในด้านเศรษฐกิจ มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจให้ดีขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น