วันพุธที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2553

รัฐบาลไทย(คณะรัฐมนตรี)


คณะรัฐมนตรี หรือที่หลายคนเรียกว่า คณะรัฐบาล คือ กลุ่มบุคคล ผู้ดำรงอยู่ในตำแหน่งอันทรงเกียรติ มีอำนาจในการบริหารประเทศ เป็นที่น่าภาคภูมิใจในสายตาของคนทั่วไป การดำเนินการใดๆของคณะรัฐมนตรีนี้ ย่อมส่งผลกระทบโดยรวมต่อประชาชนในภาพทั้งประเทศ ดังนั้นจึงถือเป็นคณะบุคคลที่มีความสำคัญสูงสุดในการที่จะนำประเทศไปสู่ทิศทางใด
องค์ประกอบของคณะรัฐมนตรี
รัฐธรรมนูญในอดีตกำหนดจำนวนรัฐมนตรีไว้แตกต่างกัน ซึ่งปัจจุบัน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา171 ได้กำหนดให้คณะรัฐมนตรีประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี 1 คน และรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกิน 35 คน รวมคณะรัฐมนตรีทั้งคณะไม่เกิน 36 คน คณะรัฐมนตรีในที่นี้ อาจประกอบด้วย รัฐมนตรีประเภทต่างๆได้แก่ นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง รัฐมนตรีว่าการทบวง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง และรัฐมนตรีช่วยว่าการทบวง ซึ่งจะมีจำนวนมากน้อยเท่าใดก็ได้ แต่จำนวนรวมกันต้องไม่เกินจำนวนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด (กรณีที่ แต่งตั้งบุคคลคนเดียวให้ดำรงตำแหน่งหลายตำแหน่ง จะยึดจำนวนคนเป็นหลักไม่ใช่นับตามตำแหน่ง เช่น เป็นทั้งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก็จะนับว่าเท่ากับคนเดียว)
ความสำคัญของคณะรัฐมนตรี
ในฐานะผู้ที่มีหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินซึ่งมีอำนาจสูงสุดในแต่ละหน่วยงาน จึงอาจสรุปว่า คณะรัฐมนตรีมีความสำคัญใน 3 ด้าน คือ
1. ด้านกฎหมาย โดยมีอำนาจหน้าที่ในการเป็นผู้ใช้กฎหมายโดยตรง และเป็นผู้เสนอกฎหมายต่างๆเพื่อนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารกิจการราชการต่างๆของประเทศให้เป็นไปโดยราบรื่น
2. ด้านนโยบายการเมือง คณะรัฐมนตรีนั้นเป็นองค์กรสูงสุดที่มีกำหนดนโยบายทั้งระดับภายในและภายนอกประเทศ โดยภายในประเทศเป็นผู้กำหนดการบริหารราชการแผ่นดินโดยตรง ส่วนภายนอกประเทศมีอำนาจกระทำการผูกพันในฐานะตัวแทนของรัฐหรือประเทศและมีผลผูกพัน
3. ด้านอำนาจ ถือเป็นองค์กรที่มีอำนาจทางด้านการบริหาร ซึ่งมีอำนาจกำหนดนโยบายต่างๆซึ่งเท่ากับเป็นการกำหนดทิศทางของประเทศ และยังมีอำนาจบังคับบัญชาสั่งการข้าราชการซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาในทุกระดับทั่วประเทศ ดังนั้นอำนาจที่มากมายเหล่านี้ย่อมกระทบต่อประชาชนโดยรวมอย่างกว้างขวาง ผู้ใช้อำนาจจึงควรใช้อำนาจด้วยความเป็นธรรม ตามหลัก ธรรมาภิบาล
คุณสมบัติของรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 174 ได้กำหนดว่า รัฐมนตรีต้องมีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้าม โดยสรุปดังต่อไปนี้
1 มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
2 มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปีบริบูรณ์
3 สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
4 ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 102 (1) (2) (3) (4) (6) (7) (8) (9) (11) (12) (13) หรือ (14) (ได้แก่ ติดยาเสพติดยาเสพติดให้โทษ เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต้องคำพิพากษาให้จำคุกหรือถูกคุมขังโดยหมายของศาล เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือถือว่ากระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ )
5 ไม่เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีก่อนได้รับแต่งตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
6 ไม่เป็นสมาชิกวุฒิสภา หรือเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาซึ่งสมาชิกภาพสิ้นสุดลงมาแล้วยังไม่เกินหนึ่งปีนับถึงวันที่ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี

อำนาจหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี
เมื่อพิจารณาตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกฤษฏีกา ตลอดจนระเบียบหรือ มติคณะรัฐมนตรีแล้ว

อำนาจหน้าที่หลักๆ ของคณะรัฐมนตรีสรุปได้ ดังนี้
1. กำหนดนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดิน
2. บริหารราชการแผ่นดินตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา เป็นผู้ใช้อำนาจบริหารในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
3. รับสนองพระบรมราชโองการเกี่ยวกับกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน
4. เสนอกฎหมาย พระราชบัญญัติ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ รวมทั้งออกพระราชกำหนดให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติ ในกรณีฉุกเฉินรีบด่วนมีความจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือปัดป้องภัยภิบัติสาธารณะ นอกจากนี้มีอำนาจออกพระราชกฤษฎีกาเพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารประเทศ โดยต้องไม่ขัดต่อกฎหมายลำดับสูงกว่า
5. เป็นผู้บริหารสูงสุดในแต่ละกระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ ทำหน้าที่ประสานงานระหว่างกระทรวง วางระเบียบข้อบังคับของแต่ละกระทรวง พิจารณา ตัดสินใจ วินิจฉัยชี้ขาด ลงมติ เรื่องต่างๆตามที่แต่ละกระทรวงเสนอมา
6. มีสิทธิเข้าประชุม เพื่อชี้แจงและ แถลงข้อเท็จจริงในที่ประชุมสภา แต่ไม่มีสิทธิออกคะแนนเสียง หรือในกรณีสภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภามีมติให้รัฐมนตรีเข้าร่วมประชุมในเรื่องใด ก็ต้องเข้าประชุม และมีสิทธิร้องขอให้มีการประชุมลับ
7. ในกรณีมีเรื่องสำคัญและต้องการรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกรัฐสภา มีสิทธิเสนอให้เปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ
8. เสนอให้มีการออกเสียงประชามติในกรณีกิจการใดที่เป็นเรื่องมีผลดีผลเสียกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่
9. อำนาจหน้าที่อื่นๆ ซึ่งกระทำภายใต้พระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ เช่น การประกาศใช้และการเลิกใช้กฎอัยการศึก การประกาศสงคราม การอภัยโทษแก่ผู้ต้องโทษ และการถอดถอนฐานันดรศักดิ์ เป็นต้น
10. อำนาจหน้าที่เฉพาะอื่นๆ ตามบทบัญญัติในกฎหมายต่างๆ ซึ่งมีอยู่มากมาย
จากบทบาทที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดข้างต้น มิอาจปฏิเสธได้เลยว่า คณะรัฐมนตรี เป็นองค์กรที่ความสำคัญมาก จนสามารถกล่าวได้ว่าเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนรัฐนาวา หากมีคณะรัฐมนตรีที่ดีมีศักยภาพ ปกครองประเทศโดยหลักนิติรัฐ ใช้อำนาจในทางที่เหมาะสม เป็นประโยชน์ต่อชาติ ก็ย่อมจะนำพาประเทศไปสู่ความสำเร็จทัดเทียมนานาประเทศสืบไป
รายชื่อนายกรัฐมนตรีไทย นายกรัฐมนตรี คนที่ 1 ถึง 27
นายกรัฐมนตรี คนที่ 1 พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) ดำรงตำแหน่งวันที่ 28 มิถุนายน 2475 พ้นตำแหน่งวันที่ 21 มิถุนายน 2476 ด้วยการทำรัฐประหารโดยพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา

นายกรัฐมนตรี คนที่ 2 พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ดำรงตำแหน่งวันที่ 21 มิถุนายน 2476 พ้นตำแหน่งวันที่ 16 ธันวาคม 2481 โดยรัฐบาลยุบสภา
นายกรัฐมนตรี คนที่ 3 จอมพลแปลก พิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ) ดำรงตำแหน่งครั้งแรกวันที่ 16 ธันวาคม 2481 พ้นตำแหน่งครั้งสุดท้ายวันที่ 16 กันยายน 2500 โดยการทำรัฐประหารนำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
นายกรัฐมนตรี คนที่ 4 พันตรีควง อภัยวงศ์ ดำรงตำแหน่งวันที่ 1 สิงหาคม 2487 พ้นตำแหน่งวันที่ 8 เมษายน 2491 โดยถูกคณะรัฐประหารบังคับให้ลาออก
นายกรัฐมนตรี คนที่ 5 นายทวี บุณยเกตุ ดำรงตำแหน่งวันที่ 31 สิงหาคม 2488 พ้นตำแหน่งวันที่ 17 กันยายน 2488 เนื่องจากลาออก เพื่อให้ผู้เหมาะสมมาแทน
นายกรัฐมนตรี คนที่ 6 หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ดำรงตำแหน่งครั้งแรกวันที่ 17 กันยายน 2488 และอีกครั้งในต้นปี 2519 ก่อนพ้นตำแหน่งเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ด้วยการทำรัฐประหาร นำโดยพล.ร.อ.สงัด ชลออยู่
นายกรัฐมนตรี คนที่ 7 นายปรีดี พนมยงค์ (หลวงประดิษฐ์มนูธรรม) ดำรงตำแหน่งวันที่ 24 มีนาคม 2489 พ้นตำแหน่งวันที่ 23 สิงหาคม 2489 โดยการลาออก
นายกรัฐมนตรี คนที่ 8 พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ (หลวง ธำรงนาวาสวัสดิ์) ดำรงตำแหน่งวันที่ 23 สิงหาคม 2489 พ้นตำแหน่งวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 โดยการทำรัฐประหารนำโดยพล.ท.ผิน ชุณหะวัณ
นายกรัฐมนตรี คนที่ 9 นายพจน์ สารสิน ดำรงตำแหน่งวันที่ 21 กันยายน 2500 ตามมติสภาผู้แทนราษฎร และพ้นตำแหน่งวันที่ 1 มกราคม 2501 เพื่อให้มีการเลือกตั้งทั่วไป เป็น ครม.ชุดที่ 27
นายกรัฐมนตรี คนที่ 10 จอมพลถนอม กิตติขจร ดำรงตำแหน่งครั้งแรกวันที่ 1 มกราคม 2501 และอีกครั้งในปลายปี 2506 ก่อนจะพ้นตำแหน่งวันที่ 14 ตุลาคม 2516 หลังการเดินขบวนใหญ่ของนักศึกษาประชาชน ในเหตุการณ์ 14 ตุลา
นายกรัฐมนตรี คนที่ 11 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ดำรงตำแหน่งวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2502 พ้นตำแหน่งวันที่ 8 ธันวาคม 2506 เพราะถึงแก่อสัญกรรม
นายกรัฐมนตรี คนที่ 12 นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ดำรงตำแหน่งวันที่ 14 ตุลาคม 2516 พ้นตำแหน่งวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2518 เพื่อให้มีการเลือกตั้งทั่วไปตามรัฐธรรมนูญปี 2517
นายกรัฐมนตรี คนที่ 13 พลตรีหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ดำรงตำแหน่งวันที่ 14 มีนาคม 2518 พ้นตำแหน่งวันที่ 20 เมษายน 2519 เพราะยุบสภา
นายกรัฐมนตรี คนที่ 14 นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ดำรงตำแหน่งวันที่ 8 ตุลาคม 2519 พ้นตำแหน่งวันที่ 20 ตุลาคม 2520 โดยการรัฐประหารนำโดยพล.ร.อ. สงัด ชลออยู่
นายกรัฐมนตรี คนที่ 15 พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ดำรงตำแหน่งวันที่ 11 พฤศจิกายน 2520 พ้นตำแหน่งวันที่ 3 มีนาคม 2523 โดยการลาออกกลางสภา
นายกรัฐมนตรี คนที่ 16 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งวันที่ 3 มีนาคม 2523 พ้นตำแหน่งวันที่ 4 สิงหาคม 2531 เมื่อยุบสภาให้มีการเลือกตั้งทั่วไป
นายกรัฐมนตรี คนที่ 17 พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ดำรงตำแหน่งวันที่ 4 สิงหาคม 2531 พ้นตำแหน่งวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 โดยคณะ รสช.ทำรัฐประหาร
นายกรัฐมนตรี คนที่ 18 นายอานันท์ ปันยารชุน ดำรงตำแหน่งวันที่ 2 มีนาคม 2534 พ้นตำแหน่งวันที่ 23 กันยายน 2535 เมื่อยุบสภาให้มีการเลือกตั้งทั่วไป (ดำรงตำแหน่งช่วงสั้นๆ อีกครั้ง ภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 10 มิถุนายน 2535 - 23 กันยายน 2535)
นายกรัฐมนตรี คนที่ 19 พลเอกสุจินดา คราประยูร ดำรงตำแหน่งวันที่ 7 เมษายน 2535 พ้นตำแหน่งวันที่ 10 มิถุนายน 2535 หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ
นายกรัฐมนตรี คนที่ 20 นายชวน หลีกภัย ดำรงตำแหน่งวันที่ 23 กันยายน 2535 และอีกครั้งในปี 2540 พ้นตำแหน่งวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2544 เมื่อยุบสภาให้มีการเลือกตั้งทั่วไป
นายกรัฐมนตรี คนที่ 21 นายบรรหาร ศิลปอาชา ดำรงตำแหน่ง 13 กรกฎาคม 2538 พ้นตำแหน่งวันที่ 25 พฤศจิกายน 2539 เมื่อยุบสภา
นายกรัฐมนตรี คนที่ 22 พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ดำรงตำแหน่งวันที่ 25 พฤศจิกายน 2539 พ้นตำแหน่งวันที่ 9 พฤศจิกายน 2540 โดยการลาออก
นายกรัฐมนตรี คนที่ 23 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 พ้นตำแหน่งวันที่ 19 กันยายน 2549 หลังถูกรัฐประหาร
นายกรัฐมนตรี คนที่ 24 พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ดำรงตำแหน่งวันที่ 1 ตุลาคม 2549 พ้นตำแหน่งวันที่ 29 มกราคม 2551 เมื่อปรากฎผลการเลือกตั้งทั่วไป
นายกรัฐมนตรี คนที่ 25 นายสมัคร สุนทรเวช ดำรงตำแหน่ง 29 มกราคม 2551 พ้นตำแหน่งวันที่ 9 กันยายน 2551 จากคำวินิจฉัยว่าไม่มีคุณสมบัติดำรงตำแหน่งของศาลรัฐธรรมนูญ
นายกรัฐมนตรี คนที่ 26 นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ดำรงตำแหน่ง 9 กันยายน 2551 พ้นตำแหน่งวันที่ 2 ธันวาคม 2551 จากคำวินิจฉัยยุบพรรคของศาลรัฐธรรมนูญ (ถูกตัดสิทธิ์และไม่มีคุณสมบัติในฐานะกรรมการบริหารพรรค)
นายกรัฐมนตรี คนที่ 27 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดำรงตำแหน่ง 17 ธันวาคม 2551 - ปัจจุบัน
คณะรัฐมนตรีคณะที่ 59 (17 ธันวาคม พ.ศ. 2551 - ปัจจุบัน) หรือเป็นที่รู้จักกันในนาม
คณะรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ 1 (ครม. อภิสิทธิ์ 1) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ตามประกาศพระบรมราชโองการ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2551 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงลงพระปรมาภิไธยในประกาศ โดยมีนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ และในวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี โดยมี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น